เบาหวาน : มฤตยูเงียบคร่าชีวิตเด็กเอเชีย

       ต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ชาน ตั้ก 'แอนสัน' ชิน เกิดผื่นลามไปทั่วขาและรักษาไม่หาย ทำให้เขาตัดสินใจไปหาแพทย์ใกล้บ้านในนิว เทอร์ริทอรี่ส์ ของฮ่องกง ซึ่งแพทย์ได้ทำการตรวจเลือดเขาหลายต่อหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปว่าเขาเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 หรือที่รู้จักกันมานานในชื่อ 'โรคเบาหวานในผู้ใหญ่' หากพิจารณาในแง่ของพันธุกรรม ถือว่าแอนสัน เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้มากที่สุด เริ่มจากปู่ของเขา 2 คน ล้วนเจ็บป่วยเพราะโรคนี้ และเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมส่วนตัว ก็ถือว่าแอนสัน ดำเนินชีวิตประจำวันไม่ค่อยจะส่งผลดีต่อสุขภาพเท่าที่ควร

       ทั้งการใช้เวลาว่างส่วนใหญ่คร่ำเคร่งกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ 'ฮีโร่ ออฟ เดอะ ทรี คิงดอม' แถมยังเป็นนักบริโภคตัวยง พิสูจน์ได้จากถุงมันฝรั่งทอดที่วางกลาดเกลื่อนหน้าโต๊ะเกมคอมพิวเตอร์ มิหนำซ้ำ อาหารที่แอนสัน บริโภคส่วนใหญ่คือ อาหารจากแม็คโดนัลด์ และพิซซ่า ฮัต ที่เขารับประทานเป็นมื้อค่ำสัปดาห์ละหลายวันด้วยกัน แต่ที่น่าแปลกใจมาก คือแอนสันไม่น่าจะตกเป็นเหยื่อโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ เพราะเขาเป็นแค่เด็กเจ้าเนื้อธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีอายุแค่ 13 ปีเท่านั้น สิ่งนี้คงเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า โรคเบาหวานพัฒนาไปมากเมื่อเทียบกับในอดีต และเราคงต้องลืมคำจำกัดความเก่าๆ เกี่ยวกับโรคนี้ไปได้เลย ทั้งเป็นโรคที่เกิดกับคนสูงอายุ, คนที่มีฐานะร่ำรวยและไม่ค่อยมีอันตรายถึงขั้นชีวิต เพราะปัจจุบัน โรคเบาหวานเกิดขึ้นกับชนทุกชั้น ทุกเพศทุกวัย เรียกว่ามีโอกาสเกิดกับยาจกยากจนแสนเข็ญอาศัยตามสลัมโทรมๆ ได้พอๆ กับเศรษฐีร้อยล้าน ที่อยู่ตามแมนชั่นหรูๆ และกำลังกลายเป็นมฤตยูเงียบที่คร่าชีวิตเด็กวัยรุ่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน องค์การอนามัยโลก (ฮู) คาดการณ์ว่ามีผู้เป็นโรคเบาหวานทั่วโลกราว 177 ล้านคน พร้อมทั้งคาดว่าตัวเลขนี้จะเขยิบขึ้นเป็น 300 ล้านคน ภายในปี 2536 ดร.พอล ซิมเม็ต ผู้อำนวยสถาบันโรคเบาหวานระหว่างประเทศ (ไอดีไอ) ในรัฐวิคทอเรีย ประเทศออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า

       โรคเบาหวานกำลังกลายเป็นโรคร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และกำลังกลายเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนเอเชียมากขึ้น ทุกวันนี้ ชาวเอเชียประมาณ 89 ล้านคน มีอาการของโรคเบาหวาน โดย 4ใน 5 ของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานล้วนเป็นชาวเอเชียแทบทั้งสิ้น เริ่มจากอินเดีย ที่ตัวเลขคาดการณ์คร่าวๆ ของไอดีไอ ระบุว่า มีผู้เป็นโรคเบาหวานประมาณ 32.7 ล้านคน ขณะที่จีนมีประมาณ 22.6 ล้านคน, ปากีสถาน 8.8 ล้านคน และญี่ปุ่นประมาณ 7.1 ล้านคน ที่สำคัญ โรคร้ายนี้แพร่ลุกลามไปในภูมิภาคเอเชียอย่างรวดเร็วมากและเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก จนมีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2568 ชาวเอเชียจะเป็นโรคเบาหวานมากถึง 170 ล้านคน แยกเป็นอินเดียและจีนที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานรวมกันเกือบ 100 ล้านคน โรคเบาหวานจะกัดกร่อนร่างกายคนป่วยอย่างช้าๆ และไม่รู้ตัว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ในเบื้องต้นนั้น ผู้เป็นโรคนี้จะมีอาการปรากฏเพียงเล็กน้อยอาทิ กระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย

       เพราะฉะนั้นจึงปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่าผู้ป่วยไม่ทราบว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับตนเอง "ประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้" ซิมเมตต์ กล่าวพร้อมเสริมว่า "มันคือมฤตยูเงียบ" สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ทั่วไป ตับจะมีหน้าที่ผลิตอินซูลิน ซึ่งจะแปลงน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน แต่โรคเบาหวานจะเป็นตัวสกัดกั้นการทำงานของกระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ก่อนจะนำไปสู่ ภาวะเส้นเลือดอุดตัน, เนื้อเยื่อร่างกายถูกทำลาย, ระบบประสาทตาถูกทำลาย, ไต, และหัวใจ ทั้งยังเปิดช่องให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาอาทิ การเป็นลมกะทันหัน, โรคหัวใจ, ความดันเลือดสูง, ไตล้มเหลว, ตาบอด "สถิติของผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพราะโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะประเมินผลกระทบของโรคนี้ต่ำเกินไป" ดร.ฮิลลารี่ คิง ผู้อำนวยการแผนกโรคเบาหวานประจำฮู กล่าว พร้อมเสริมว่า

       "คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานมักจะเสียชีวิตจากผลที่ตามมาในภายหลังมากกว่าเสียชีวิตจากตัวของโรคเอง" โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือเบาหวานประเภท 1 ถือเป็นเบาหวานที่ต้องพึ่งอินซูลิน และมักจะเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม ตับไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ในสมัยก่อน เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้จะถูกบังคับให้ฉีดอินซูลินก่อนไปโรงเรียนทุกวัน เพราะได้โรคนี้ติดมากับตัวตั้งแต่เกิด หากไม่ฉีดอินซูลินจะต้องเสียชีวิตเพราะโรคนี้ อรุณ อิรยาเปรูมัล วัย 16 ปี จากเจนไน ประเทศอินเดีย เป็นโรคเบาหวานประเภท 1 ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 3 ขวบ โดยบรรพบุรุษในครอบครัวเขาไม่เคยมีใครเป็นโรคนี้ "ผมและภริยารู้สึกสิ้นหวังอย่างมาก" บิดาของอรุณกล่าว ปัจจุบันอรุณ ทำงานรับจ้างในสวนสัตว์แห่งหนึ่งแถบชานเมืองหลวง โดยครอบครัวของอรุณไม่อยู่ในฐานะที่จะรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายจากอินซูลินได้ แต่โชคดีที่โรงพยาบาลท้องถิ่นแห่งหนึ่งยินดีฉีดอินซูลินให้เขาโดยไม่คิดมูลค่า ถึงกระนั้นความสามารถในการมองเห็นของเขาก็เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ และทำให้เขาตาบอดในที่สุด ขณะอายุได้ 12 ปี "ผมยังจำภาพวันเก่าๆ ที่ปีนต้นไม้, เล่นคริกเก็ต รวมทั้งสีสันต่างๆ ตามตัวสัตว์ได้ดี" อรุณ เหยื่อโรคเบาหวานกล่าว อรุณเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสอนคนหูหนวกและตาบอด พร้อมทั้งตั้งความหวังว่าจะเป็นครูในอนาคต แต่ครอบครัวของเขา ก็ต้องเศร้าเสียใจอีกครั้งเมื่ออีลักกิยา น้องสาวของเขามีอาการของโรคเบาหวานประเภท 1 ด้วยเหมือนกัน ในขณะที่เธอมีอายุได้เพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้น ถึงกระนั้น

       เราทุกคนก็ควรตระหนักถึงมหันตภัยร้ายของโรคเบาหวานประเภท 2 ด้วยเช่นกัน และถือเป็นโรคร้ายแรง ในแบบที่ 2 นี้ ตับไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา แต่เป็นการผลิตอินซูลินของตับ แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถสรุปแบบฟันธงลงไปได้ว่า ตับผลิตอินซูลินไม่พอเพียง หรือว่าร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น จึงทำให้เกิดผลกระทบในแง่ลบตามมา หากย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคสผู้ป่วยเบาหวานแบบแอนสันอาจจะเป็นเรื่องแปลกเพราะไม่ค่อยจะมีให้เห็น เบาหวานประเภท 1 เป็นรูปแบบโรคเบาหวานที่พบเห็นได้ทั่วไปในเด็ก แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคเบาหวานประเภท 2 จะแพร่หลายในอีก 10-20 ปีข้างหน้าในกลุ่มเด็กด้วยเช่นกัน "มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอายุของผู้เป็นเบาหวานจะลดลง" ศ.คลีฟ ค็อกแรม รองประธานสมาพันธ์โรคเบาหวานระหว่างประเทศในเครือข่ายของฮู กล่าว "ทุกวันนี้ เราเจอผู้ป่วยเบาหวานอายุต่ำกว่า 40 ปี และ 30 ปีมากขึ้น" ดร.ซัม ฉี ฟาง ผู้อำนวยการศูนย์โรคเบาหวานประจำโรงพยาบาลอเล็กซานดร้า ในสิงคโปร์ กล่าวเสริม ในญี่ปุ่น 80% ของเคสโรคเบาหวานในเด็กมักเป็นโรคเบาหวานประเภท2 และบางคนเป็นผู้ป่วยเด็กมากอายุแค่ 9 ปีเท่านั้น "เราเคยเจอผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 ที่อายุต่ำกว่า 6 ปี" ดร.เส่ย ฉี เซอะ ประธานสมาคมผู้ศึกษาโรคเบาหวานแห่งไต้หวัน กล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้

       อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชาวเอเชียเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 กันมากขึ้น คำตอบน่าจะอยู่ที่ไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณค่าด้านโภชนาการทั้งแม็คโดนัลด์, เคเอฟซี ประกอบกับใช้เวลาว่างในแต่ละวันเคลื่อนไหวน้อยมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหนุนส่งให้มฤตยูเงียบที่ชื่อเบาหวานมาเคาะประตูร่างกายได้นั่นเอง มาทำความรู้จักกับมฤตยูเงียบกันหน่อย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนว่าโรคเบาหวานกำลังกลายเป็นมหันตภัยด้านสุขภาพที่รุนแรงที่สุดสำหรับเอเชีย เบาหวานคืออะไร เบาหวานคืออาการเจ็บป่วยจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับกลูโคลส (น้ำตาล) ในเลือดได้ตามปกติ, ร่างกายของคนเป็นโรคเบาหวานจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินในปริมาณที่เพียงพอ โดยฮอร์โมนดังกล่าว ซึ่งผลิตโดยตับ มีหน้าที่ลำเลียงกลูโคลสไปยังกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อแปลงเป็นพลังงาน และไม่สามารถใช้ฮอร์โมนอินซูลินที่มีอยู่ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแยกประเภทเบาหวานได้เป็น 2 ประเภทคือ เบาหวานประเภท 1 และ เบาหวานประเภท 2 เบาหวานประเภท 1 บางครั้งก็เรียกโรคเบาหวานในเด็ก -เกิดขึ้นเพียง10-15%ของทุกเคส -ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนแต่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยอาจจะมีองค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น

       -อาการของโรคโดยทั่วไปลุกลามรวดเร็ว -มีแนวโน้มว่าจะเกิดกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี -เซลล์ผลิตอินซูลินในตับได้รับความเสียหายเพราะฉะนั้นต้องมีการฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายเพื่อรักษาชีวิตคนไข้เอาไว้ เบาหวานประเภท2 บางครั้งเรียกเบาหวานในผู้ใหญ่ - เป็นเบาหวานที่พบเห็นได้ทั่วไปและเกิดขึ้นประมาณ 90% ของทุกเคส - สาเหตุของโรคจะสัมพันธ์กับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำหนักตัวมากเกินไป, ไม่ค่อยออกกำลังกายและความเครียด อีกทั้งอาจจะสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรมด้วย - ปกติจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุสูงกว่า 40 ปี แต่ในปัจจุบันกำลังแพร่ระบาดในหมู่เด็กและวัยรุ่น - ร่างกายผลิตอินซูลินได้แต่อาจจะไม่เพียงพอ หรือไขมันในร่างกายมากเกินไปอาจจะเป็นตัวสกัดกั้นการผลิตอินซูลิน วิธีเยียวยาโรคเบาหวาน ไม่มียารักษาโรคเบาหวานให้หาย แต่สามารถควบคุมโรคนี้ได้

       โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้อย่างมีความสุขและยาวนานถ้าทำตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไปนี้: 1.รักษาดูแลสุขภาพและสร้างสมดุลด้านโภชนาการแก่ร่างกาย 2.ออกกำลังกายมากๆ 3.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้สูงเกินไปและน้อยเกินไป 4.ตรวจสอบระดับกลูโคลสในเลือดอย่างสม่ำเสมอ 5.พบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและขอรับคำแนะนำด้านการแพทย์เป็นประจำ และสำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 การเข้ารับการฉีดอินซูลินเป็นประจำทุกวันเป็นเรื่องจำเป็นมาก คุณเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ต่อไปนี้คืออาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณเตือนภัยบอกให้คุณรู้ว่ากำลังถูกคุกคามด้วยโรคเบาหวาน 1.กระหายน้ำมากกว่าปกติและปากแห้ง 2.ปัสสาวะบ่อย 3.ง่วงเหงาหาวนอนบ่อยผิดปกติ 4.หิวอาหารมากผิดปกติ 5.น้ำหนักตัวลดลงอย่างฮวบฮาบ 6.มีบาดแผลที่รักษาไม่หาย 7.ติดเชื้อได้ง่าย 8.ความสามารถในการมองเห็นพร่ามัว หัวใจสำคัญคือการตรวจร่างกายเป็นประจำ เพราะอย่างน้อย 50% ของผู้เป็นโรคเบาหวานไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ อีกทั้งเบาหวานประเภท 2 จะแสดงอาการน้อยกว่าเบาหวานประเภท 1

ที่มา: สมาพันธ์เบาหวานระหว่างประเทศ,สถาบันเบาหวานระหว่างประเทศ,องค์การอนามัยโลก(ฮู) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
 
     

Back to Top