การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารที่มีทั้งชนิด และปริมาณที่เหมาะสม ตรงตามเวลาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และพลังงานที่สมดุลกับการใช้แรงงาน และยาที่แพทย์กำหนดให้ ซึ่งมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดรวมถึงน้ำหนักตัว ความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดที่มักพบว่ามีความผิดปกติร่วมกันกับความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนจึงควรให้ความสนใจ และพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกชนิด และปริมาณอาหารที่เหมาะสม ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนอาหารได้หลากหลายเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซากจำเจ และให้มีความสุขในการรับประทานอาหารมากขึ้น โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนในอาหารหมู่เดียวกัน ในปริมาณที่มีพลังงานเทียบเท่ากัน เช่น
อาหารหมู่ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ พบว่าการรับประทานข้างต้ม 2 ทัพพี จะให้พลังงานเทียบเท่ากับข้าวสวย 1 ทัพพี หรือข้างเหนียวนึ่ง 3 ช้อนโต๊ะ
อาหารหมู่ผัก พบว่าการรับประทานผักสด 1 ถ้วยตวงจะให้พลังงานเทียบเท่ากับผักสุกครึ่งถ้วยตวง
อาหารหมู่ผลไม้ พบว่าการรับประทานกล้วยน้ำว้า 1 ผล จะให้พลังงานเทียบเท่ากับเงาะ 6 ผล ชมพู่ 4 ผล ทุเรียน 1 เม็ดกลาง มะม่วงครึ่งผล เป็นต้น
อาหารหมู่เนื้อสัตว์ ไข่ และนม พบว่าการรับประทานเนื้อหมู 2 ช้อนโต๊ะ จะให้พลังงานเทียบเท่ากับเนื้อไก่ 2 ช้อนโต๊ะ ไข่ 1 ฟอง ลูกชิ้น 5-6 ลูก เป็นต้น
หมวดไขมัน พบว่าการรับประทานน้ำมันหมู 1 ช้อนชา จะให้พลังงานเทียบเท่ากับเนยสด 1 ช้อนชา มายองเนส 1 ช้อนชา น้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ

      หมายเหตุ

ควรเลือกอาหารที่มีใยอาหารสูง
ควรหลีกเลี่ยงผลไม้เชื่อม ผลไม้กวน ผลไม้ดอง ผลไม้บรรจุกระป๋อง ผลไม้สดที่มีเครื่องจิ้ม
ควรหลีกเลี่ยงนมที่มีการปรุงแต่งรสทุกชนิด และเครื่องดื่มประเภทโอวัลติน ไมโล และโกโก้ที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว

       การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น เป็นผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักได้ดี ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ลดอัตราการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ และยังช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังสามารถลดระดับไขมันเส้นเลือด โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ได้อีกด้วย

  ที่มา : พญ.อรัญญา สว่างอริยะสกุล
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรม
สาขาต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิสม