ลักษณะของสภาพทุโภชนาการ

การบริโภคอาหารประเภทให้แรงงานน้อย ไม่พอที่ร่างกายจะใช้เป็นแรงงาน จะทำให้บุคคลนั้นมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีสมรรถภาพในการทำงาน เหนื่อยง่าย น้ำหนักตัวลดลง ตัวจะเล็ก ผอม ซีด ขาดความต้านทานโรคพยาธิที่มาคุกคาม เมื่อเกิดโรคใดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นการยากต่อการรักษา
ถ้าอยู่ในสภาพนี้นาน อาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะทำให้ผอมถึงขนาดหนังหุ้มกระดูก

การบริโภคอาหารประเภทให้พลังงานในจำนวนมากเกินความต้องการของร่างกาย ร่างกายจะสะสมไว้ในสภาพของไขมัน บุคคลนั้นจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็น "โรคอ้วน" ซึ่งอาจจะเป็นเหตุจูงให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคของระบบไหลเวียนของโลหิต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
และโรคหลอดเลือดตีบตัน และจากการวิจัยพบว่า ผู้เป็นโรค "อ้วน" จะมีอายุสั้นกว่าที่ควร

การบริโภคอาหารมีสารอาหารบางชนิดน้อยหรือขาดไป ถ้าขาดในจำนวนมากพอ และเป็นระยะนานพอ จะเกิดความพิการแก่เซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ถ้ามากจนมีอาการปรากฏให้เห็นได้ชัดจะเป็นโรคเฉพาะขึ้น โรคนี้เรียกว่า "โรคขาดสารอาหาร" ชื่อโรคและอาการจะแตกต่างกันไปตามชนิดของสารอาหารที่ขาด เช่น
โรคเหน็บชา มีอาการสำคัญคือการชาตามปลายมือ ปลายเท้า เกิดจากการขาดวิตามินที่ชื่อ "ไทอะมิน" โรคปากนกกระจอก มีแผลที่มุมปาก เกิดจากการขาดสาร "ไรโบฟลาวิน" โรคโลหิตจาง จะมีผิวหนังซีด รู้สึกวิงเวียนเป็นลมง่าย อาจเกิดจากการขาดแร่เหล็ก แร่ทองแดง หรือสาร "โฟลาซิน" หรือสาร "โคบอลามิน" โรคกระดูกอ่อน มีอาการขาโกง หน้าออกนูน เกิดจากการขาดแร่ "แคลเซียม" หรือขาดวิตามินดี เป็นต้น

การบริโภคอาหารมีสารอาหารบางชนิดน้อยไปแต่จำนวนยังไม่มาก และในระยะเวลาไม่นานพอที่จะทำให้เกิดการผิดปกติ หรือความพิการแก่เซลล์ได้ชัดเจนจนเป็นโรคขาดสารอาหาร ความพิการในลักษณะนี้ก็เป็นการยากที่จะเข้าใจและนึกถึงว่าอาการที่เป็น
หรืออันตรายที่เกิดแก่สุขภาพนั้นเกิดมาจากอาหารที่บริโภค เนื่องจากความพิการที่เกิดขึ้นนั้นไม่เฉพาะและชัดแจ้ง ส่วนการวิจัยที่จะแสดงผลร้ายเกิดจากทุโภชนาการทางสุขภาพนั้น ทำได้หลายวิธี และส่วนมากต้องใช้การสังเกตและการปฏิบัติเป็นระยะนาน อาจเป็นแรมเดือนหรือแรมปี เช่น ดูการเจริญเติบโตของเด็ก การมีกำลังงานหรือพลังงานในการทำงาน การมีสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด และความต้านทานโรคภัย และพยาธิต่าง ๆ ลักษณะอาการต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นเป็นระยะและแตกต่างกันตามชนิดและจำนวนของสารอาหารที่ขาด

ผลร้ายหรืออาการผิดปกติต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการบริโภค
เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย

เกี่ยวกับความแข็งแรง ความมีสมรรถภาพในการประกอบการงานต่าง ๆ ของร่างกาย

เกี่ยวกับความต้านทานเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย สารอาหารหลายอย่างมีส่วนช่วยในการต้านทานต่อโรคพยาธิที่เกิดแก่ร่างกาย พวกวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารโปรตีน มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายต้านทานหรือต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้

การทำให้มีสติปัญญา มีความเฉลียวฉลาด และมีไหวพริบ ผลการวิจัยยืนยัน ในกองทหาร พบว่าพวกทหารที่ได้รับสารอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอ มักมีสติปัญญาและไหวพริบในการซ้อมรบดีกว่าพวกที่ขาดสารอาหาร และจากการทดลองของ Johnson และ Williams พบว่าผู้บริโภคอาหารที่มี "ไทอะมิน" ต่ำ
มักจะหงุดหงิด ไม่แจ่มใส หน้าบูดบึ้ง ในสตรีมีครรภ์พบว่าพวกที่ได้รับ "สารไทอะมิน" , "แร่แคลเซียม" และ "แร่เหล็ก" ต่ำ จะแสดงความกังวลใจในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่สนใจในงานบ้าน มีความไม่สบายใจ สตรีพวกนี้หลังจากจัดให้บริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบเพียง 3 สัปดาห์ ก็แสดงอาการเปลี่ยนแปลงให้เห็นชัด คือ แจ่มใส ร่าเริง เริ่มเอาใจใส่ความสะอาดของตัวเองและสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว

การสืบพันธุ์ อาหารที่บริโภคเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความสามารถในการสืบพันธุ์ต่ำลงได้ ปัจจุบันพบว่าเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดการเป็นหมัน เกิดเนื่องจากการมีภาวะทุโภชนาการในเซลล์ และขณะนี้ยอมรับกันแล้วว่า การขาดสารอาหาร อาทิ "แร่แมงกานีส" "วิตามินอี" "กรดไลโนลีอิค" "กรดแอมิโน"
ชนิดจำเป็น หรือ "วิตามินบี" จะทำให้เป็นหมันได้

ระบบประสาทและจิตใจ นอกจาก "ไทอะมิน" แล้ว พบว่าสาร "แพนโททีนิค" และ "โคบอลามิน" ก็เป็นสารอาหารของประสาทด้วย การศึกษาและวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีสารอาหารหลายอย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประสาทและจิตใจ รวมทั้งวิตามินและกรดอะมิโนชนิดจำเป็น
และมีข้อยืนยันจากการวิจัยแสดงว่าสุขภาพและประสิทธิภาพของการทำงานของระบบประสาทย่อมต้องอาศัยการมี "โภชนาการที่ดี" การบำรุงส่งเสริมเซลล์และเนื้อประสาทจึงเป็นที่จำเป็นอย่างยิ่ง และยังพบว่าอาการนอนไม่หลับ อาจเกิดจากการขาดสารอาหารพวก "แร่แคลเซียม" "แร่โปรแตสเซียม" "สารไทอะมิน" "สารไพริด็อกซิน" หรือ "สารไนอะซิน" อย่างใดอย่างหนึ่งได้

การมีชีวิตยืนนาน ในข้อนี้มีผลการวิจัยสนันสนุนแน่นอนว่า การกินอาหารที่เหมาะทั้งจำนวนและคุณภาพ จะทำให้ผู้นั้นมีอายุยืนนานยิ่งขึ้น และในการมีอายุยืนนานนั้นจะมีชีวิตอยู่ด้วยทั้งสุขภาพและจิตใจ